วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ประวัติศิลปะสีน้ำ


ประวัติศิลปะสีน้ำ

 ศิลปะสีน้ำตะวันออก
          เป็นที่ยอมรับกันว่า ชนชาติจีนรู้จักใช้สื่อสีน้ำก่อนชาติใดในโลก ทั้งนี้เพราะว่าสะดวกในการนำไปใช้เขียนตัวหนังสือตามลีลาพู่กัน (Calligraphy) หลักฐานพบได้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและพัฒนาสูงสุดในสมัยราชวงค์ซุง (Tang  Dynasty A.D. 618 – 907 , Sung Dynasty A.D. 960 – 1127) และเนื่องจากชนชาติจีนเชื่อกันว่า ธรรมชาติเป็นมารดาของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก ดังนั้นการชื่นชมและสัมผัสธรรมชาติ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เสริมสร้างการรับรู้และตอบสนองในเชิงรูปแบบศิลปะที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ศิลปินจีนจึงนิยมใช้สื่อสีน้ำเขียนบรรยายธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ เมฆ ดอกไม้  สัตว์ ฯลฯ เพื่อสนองความเชื่อดังกล่าว
          เป็นความจริงที่ว่าไม่มีชนชาติใดจะอยู่ในโลกโดยลำพังได้ จำต้องติดต่อแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างกัน ตรงกับความจริงที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติที่อยู่ใกล้กันทำให้ญี่ปุ่นรับศาสนา และวัฒนธรรมบางส่วนไปจากจีน รวมทั้งการใช้สื่อสีน้ำด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อสื่อสีน้ำตกถึงมือศิลปินญี่ปุ่น สีน้ำจึงกลายเป็นสีที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากชนชาติญี่ปุ่นจะใช้สีน้ำ ถ่ายทอดรูปแบบจากธรรมชาติโดยตรงแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการออกแบบภาพพิมพ์สีได้อย่างดีอีกด้วย

 ศิลปะสีน้ำตะวันตก
         สำหรับในวงการศิลปะตะวันตก สื่อสีน้ำมีบทบาทและเป็นที่รู้จักกันนับตั้งแต่สมัยฟื้นฟูเป็นต้นมา โดยมีศิลปินชาวเยอรมันได้สนใจแสดงออกด้วยสื่อสีน้ำ ทั้งที่ใช้สีน้ำโดยตรงและใช้สีน้ำเสริมระหว่างการวาดเส้นสีดำกับการระบายสี ต่อมาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสีน้ำคนแรกคือ ออลเบรท ดูเรอ (Albrecht Durer 1471 – 1528) ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยสีน้ำไว้มาก
          อัลเบรชท์ ดูเรอร์ เป็นศิลปินคนแรกที่ใช้สีน้ำเป็นสื่อในการแสดงออกเพื่อเขียนภาพสัตว์ และ
ภาพภูมิทัศน์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้พัฒนาสีน้ำให้มีลักษณะโปร่งใส และมีลักษณะไหลรุกรานเข้าหากัน โดยซึมเข้าหากัน ต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 พอล แซนด์บี ศิลปินชาวอังกฤษ (Paul Sandby 1725 – 1809) ได้ให้ความสนใจสีน้ำเป็นพิเศษ ได้นำสีน้ำเป็นสื่อในการสร้างสรรค์บรรยากาศได้อย่างดีเยี่ยมจนได้รับฉายาว่าเป็นบิดาของสีน้ำแห่งอังกฤษ ทำให้ช่วงหลังนี้ เมื่อกล่าวถึงสื่อสีน้ำ มักจะนึกถึงศิลปินอังกฤษก่อนเสมอ ทั้งยังได้รวบรวมหลักฐานไว้เป็นระบบตามลำดับ ตลอดจนอังกฤษได้ผลิตวัสดุสีน้ำ และอุปกรณ์ในการเขียนจำหน่ายเป็นที่รู้จักทั่วไปในโลก
          ทำไมอังกฤษจึงเป็นที่รู้จักกันดีว่า ใช้สื่อสีน้ำเป็นสื่อในการถ่ายทอดที่ได้ผลมากที่สุด สาเหตุประการหนึ่งก็คือ ในสมัยพระเจ้ายาร์จที่ 2 แห่งราชวงศ์ฮันโนเวอร์เรียน (Hanoverian  Dynasty) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาอังกฤษจากประเทศกสิกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรมคล้ายกับแผ่นดินใหญ่ ยุโรปจึงได้ส่งบุคคลหลายประเภทไปทัศนศึกษาในแผ่นดินใหญ่  ตามทัศนะว่าทรัพยากรมนุษย์มีค่ามากที่สุด
          เมื่อนักทัศนาจรอังกฤษได้รับประสบการณ์จากการท่องเที่ยวในยุโรปตามประเทศต่างๆ  เช่น ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี ต่างคนก็ต่างแสวงความรู้ ความเข้าใจ ตามความชอบของแต่ละคน แต่ความชอบหลักที่ทุกคนมีคล้ายๆกันคือศิลปะ นักทัศนาจรเหล่านั้น ประทับใจในความยิ่งใหญ่ และวัฒนธรรมของโรม ความสวยงามและความประณีตของสถาปัตยกรรมในยุคแรก ๆ  ดังนั้นจึงหาทางบันทึกรูปแบบที่ตนได้เห็นมานั้น เพื่อนำมาพัฒนาประเทศของตนและจากความต้องการนี้เอง ทำให้ศิลปินอิตาเลียน คิดทำภาพพิมพ์สถาปัตยกรรมที่สำคัญ ๆ เพื่อขายเป็นของที่ระลึกแก่นักทัศนาจรชาวอังกฤษ
สมกับความจริงที่ว่า เมื่อมีความต้องการมาก ก็ต้องสร้างสรรค์สิ่งที่ตอบสนองความต้องการนั้น ในช่วงนี้เองถึงกับเจตคติทางศิลปะในบรรดาชาวอังกฤษว่า ถ้าใครมีรูปแบบศิลปกรรมอิตาเลียนไว้ในครอบครองถือว่าเป็นผู้มีฐานะดีและมีรสนิยมดี
          ชาวอังกฤษบางคนที่มองเห็นความต้องการนี้ ประกอบกับความสามารถในการถ่ายทอดรูปแบบศิลปะที่มองเห็นอยู่บ้าง จึงได้คิดหาวิธีการสร้างสรรค์งานตามรูปแบบศิลปกรรมของต่างประเทศ ระยะแรกบางคนก็อาจไปเขียนจากสถานที่จริง บางคนก็หาทางจัดพิมพ์ขึ้นในอังกฤษเอง แล้วนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ในที่สุดก็มีศิลปินหนุ่มผู้หนึ่ง ชื่อวิลเลียม เทอร์เนอร์ (Joseph  Mallord  William Turner) ได้ร่างภาพจากทัศนียภาพของอิตาลีและฝรั่งเศสด้วยสีน้ำ นอกจากนี้ยังระบายสีน้ำเพื่อถ่ายทอดธรรมชาติของอังกฤษเองอีกด้วย ในที่สุดก็ได้รับความสำเร็จเป็นศิลปินสีน้ำยอดเยี่ยม จากสมาคมราชบัณฑิตทางศิลปะของอังกฤษ เมื่ออายุได้เพียง 24 ปีเท่านั้น เทอร์เนอร์ เป็นศิลปิน คนแรกในการระบายสีน้ำตามแนวทางศิลปะสมัยใหม่
         ปีคริสต์ศักราช 1832 นักเคมีและจิตรกร วิลเลียม วินเซอร์ และ เฮนรี นิวตัน ได้เริ่มต้นธุรกิจ สิ่งที่ทั้ง สองประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ คือ สีน้ำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ สีน้ำบรรจุกล่อง แล้วจึงตามมาด้วย สีน้ำชนิดบรรจุหลอดโลหะในปี ค.ศ.1841 และมีจิตรกรที่มีชื่อเสียงได้แก่ เทอร์เนอร์ คอนสเตเบิล (Turner Constarble) ซึ่งเป็นศิลปินในลัทธิโรแนมติก ของประเทศอังกฤษ และ แกนสเบอรอค Grangbaughroufi) จิตรกรสีน้ำที่มีชื่อเสียงในประเทศฝรั่งเศสได้แก่ ฮูเบิร์ต โรเบิร์ต (Hubert Roebrt) แซลเล (Chale) จิตรกรสีน้ำที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาได้แก่ วินสโลว โฮมเมอร์ (Winslow Homer) จอห์น ซิงเกอร์ ซาเจนท์ (John Singer Sargent) และ แอนดริว ไวเอท (Andraw Wyeth)
         จะเห็นได้ว่า สื่อวัสดุสำหรับไว้ถ่ายทอดประเภทใดก็ตาม หากได้ลงมือฝึกฝนปฏิบัติกันอย่างจริงจังแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จเสมอ อย่างเช่น ความเป็นมาที่เกิดขึ้นในอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนจากกสิกรรมเป็นอุตสาหกรรม ผลผลิตต่างๆ  ก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของคนเป็นจำนวนมาก การผลิตวัสดุอุปกรณ์สำหรับสีน้ำก็พัฒนาเพิ่มมากขึ้นและเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ซื้อ บริษัทผู้ผลิตสี จึงได้เอาชื่อศิลปินสีน้ำดัง ๆ มาเป็นชื่อสี ดังเช่น วินเซอร์ และนิวตัน เป็นต้น (Winsor and Newton Artists Materials)
         สาเหตุที่ทำให้สีน้ำเป็นที่นิยมมากในอังกฤษอีกประการหนึ่งก็คือ คนอังกฤษสนใจธรรมชาติและบรรยากาศ ซึ่งความสนใจนี้ สีน้ำตอบสนองเป็นรูปแบบได้อย่างดี ดังนั้น สีน้ำจึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอังกฤษ

 ศิลปะสีน้ำประเทศไทย
         สำหรับประเทศไทยเรานั้น เข้าใจว่าเริ่มรู้จักสื่อสีน้ำ เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนเป็นระบบขึ้นราวปี พ.. 2456 เมื่อตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้น ระยะแรกตั้งนั้น เป้าหมายสำคัญก็เพื่อใช้สีน้ำเสริมแต่งการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้มีลักษณะบรรยากาศคล้ายของจริงมากยิ่งขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้
สีน้ำ เพื่อการลงสีมิใช่ระบายสี (Coloring not  painting) แต่ขณะเดียวกันก็มีศิลปินบางท่านพยายามใช้
สีน้ำในแง่ของการระบายสี มิใช่ลงสี และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดีถ้าพิจารณาในแง่ของการเรียนการสอน เกี่ยวกับสีน้ำยังไม่มีระบบและวิธีสอนที่แน่นอนตามแนวสากล ครูศิลปะเป็นเพียง
ผู้สั่งงาน ผู้จัดหุ่น แล้วให้นักเรียนแสวงหาด้วยตนเอง  จึงส่งผลให้การเรียนการฝึกปฏิบัติสื่อวัสดุสีน้ำ
ไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก เป็นเพียงความชื่นชมที่รู้จักกันในหมู่ศิลปินที่สนใจสีน้ำเพียงสองสามคนเท่านั้นและประกอบกับเจตคติที่ปิดบังวิธีการในวิชาชีพยังคงมีอยู่ เท่าที่สืบทอดมาจากระบบการเรียนการสอนตามแบบอย่างของอดีต ( Mystery of the Craft )
         สำหรับในปัจจุบันในบ้านเรา สื่อสีน้ำได้รับการพัฒนาอีกหลังจากที่มีสถาบันศิลปะระดับปริญญาตรี เพิ่มมากขึ้นดังเช่น ตามวิทยาลัยครู และตามมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาเอกศิลปะ  เป็นต้น นอกจากนี้
การจัดแสดงภาพที่จัดขึ้นโดยทางราชการ ทางธนาคาร และกลุ่มศิลปิน ก็ให้ความสำคัญกับสื่อประเภท
สีน้ำมาก
         สรุปได้ว่า จิตรกรรมสีน้ำเริ่มมีบทบาทในการวงการศิลปะมากยิ่งขึ้นเพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมตอบสนองการรับรู้ที่สร้างสื่อระหว่างมนุษย์ทางด้าน บรรยากาศ และความประทับใจแนวหนึ่ง สื่อประเภทนี้
ชนชาติตะวันออกได้รู้จักนำมาใช้ก่อนทางตะวันตก แต่น่าเสียดายที่ระบบการเรียนการสอนทางตะวันออกยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ประกอบกับเจตคติปิดบังเทคนิคและวิธีการในอาชีพยังคงมีค้างอยู่ จึงทำให้สีน้ำ
เป็นที่สนใจเฉพาะในวงการแคบ ๆ อย่างไรก็ดีเป็นที่คาดหวังว่า  อีกไม่นานสื่อสีน้ำคงได้รับการสนับสนุนจากสังคมส่วนใหญ่เป็นอย่างดี
 
บรรณานุกรม

มัย ตะติยะ.  พื้นฐานการวาดภาพคนเหมือน แรเงา สีน้ำ ดินสอสีระบายน้ำ. 
         กรุงเทพฯ  :  วาดศิลป์,  2552.  หน้า 52
อารี  สุทธิพันธุ์.  การระบายสีน้ำ.  กรุงเทพฯ  :  กระดาษสา,  2526.  หน้า 27 - 31
Branet,  Rex,  Watercolor  Technigues  and  Methods,  Van  Nostrand  Reinhold   
        ComPany.  New  York  P. P. 11.
Parramon  J.M., & Fresquet  G.,  Watercolors,  Improve  Your  Painting  and 
        Drawing,  Fountain  press,  13 – 35  Bridge  Street  Hemel  Hempstead, 
        Hertford  Shire,  England,  P. P. 9.                                       
Charts.  2550.  การระบายสีน้ำ.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2554.  จาก  
           http://www.chaarts.com/article%20paint%20water%20colour.html

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น