วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ทฤษฎีสี


ทฤษฎีสี
ความหมายของสี
           สี คือลักษณะของแสงที่ปรากฏแก่สายตาให้เห็นเป็นสี (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
          ในทางวิทยาศาสตร์ให้คำจำกัดความของสีว่า เป็นคลื่นแสงหรือความเข้มของแสงที่สายตาสามารถมองเห็น

ในทางศิลปะ สีคือ ทัศนธาตุอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานศิลปะและใช้ในการสร้างงานศิลปะโดยจะทำให้ผลงานมีความสวยงาม ช่วยสร้างบรรยากาศ มีความสมจริง เด่นชัดและน่าสนใจ มากขึ้น
               
สีวัตถุธาตุ

           เป็นสีที่ได้มาจากธรรมชาติ และจากการสังเคราะห์โดยกระบวนทางเคมี มีแม่สี 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน แม่สีวัตถุธาตุเป็นแม่สีที่นำมา ใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ในวงการศิลปะ วงการอุตสาหกรรม ฯลฯ แม่สีวัตถุธาตุเมื่อนำมาผสมกันตามหลักเกณฑ์จะทำให้เกิดวงจรสี ( Colour Circle) ซึ่งเป็นวงสีธรรมชาติ เกิดจากการผสมกันของแม่สีวัตถุธาตุ เป็นสีหลักที่ใช้งานกันทั่วไป  ในวงจรสีจะแสดงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
           สีขั้นที่ 1 คือ แม่สี ได้แก่ สีแดง  สีเหลือง สีน้ำเงิน
           สีขั้นที่คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 หรือแม่สีผสมกันในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะทำให้ เกิดสีใหม่ 3 สี ได้แก่ สีแดง ผสมกับสีเหลืองได้สีส้ม สีแดง ผสมกับสีน้ำเงินได้สีม่วง สีเหลือง ผสมกับสีน้ำเงิน ได้สีเขียว
           สีขั้นที่คือ สีที่เกิดจากสีขั้นที่ 1 ผสมกับสีขั้นที่ 2 ในอัตราส่วนที่เท่ากัน จะได้สีอื่นๆ อีก 6  สี คือ สีแดง ผสมกับสีส้มได้สีส้มแดง สีแดงผสมกับสีม่วงได้สีม่วงแดง สีเหลืองผสมกับสีเขียวได้สีเขียวเหลืองสีน้ำเงินผสมกับสีเขียวได้สีเขียวน้ำเงิน สีน้ำเงินผสมกับสีม่วงได้สีม่วงน้ำเงิน สีเหลือง ผสมกับสีส้มได้สีส้มเหลือง
           วรรณะของสี คือสีที่ให้ความรู้สึกร้อน-เย็น ในวงจรสี  ซึ่งแบ่งที่สีม่วงกับสีเหลือง ซึ่งเป็นได้ทั้งสองวรรณะ
ถ้าพิจารณาในวงจรสีจะพบว่าด้านหนึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึกเย็นเป็นสีโทนเย็น (Cool Tone) คือสีที่อยู่ใกล้กับสีน้ำเงินและสีเขียว มี 6 สี  ได้แก่ สีเขียวเหลือง สีเขียว สีเขียวน้ำเงิน สีน้ำเงิน สีม่วง น้ำเงินม่วง จะให้ความรู้สึก เย็น สงบ เรียบ เศร้า การใช้สีอ่อนในวรรณะเย็นจะทำให้ดูไกลออกไป และถ้าพิจารณาอีกด้านหนึ่งจะพบว่าเป็นสีที่ให้ความรู้สึกร้อน เป็นสีโทนร้อน (Warm Tone) คือสีที่อยู่ใกล้กับสีแดงและสีส้ม มี 6 สี ได้แก่ สีเหลือง สีส้มเหลือง สีส้ม สีส้มแดง สีแดง สีม่วงแดง จะให้ความรู้สึกตื่นเต้น กระฉับกระเฉง รื่นเริง รุนแรง ขัดแย้ง เมื่อนำไปใช้จะทำให้ดูใกล้เข้ามา
          สีตรงข้าม (Complementary Colour)/สีตัดกัน (Contrasts Colour)/ สีคู่ประกอบ (Complementary)/ สีคู่ปฏิปักษ์ (Contrast) คือสีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงจรสี เป็นสีที่มีค่าความเข้มของสี ตัดกันอย่างรุนแรง นำไปใช้กับบริเวณที่ต้องการเน้นให้ส่วนนั้นเด่นชัดขึ้น ตัดกับบริเวณส่วนอื่นการแสดงสีในลักษณะนี้จะทำให้ผู้พบเห็นสะดุดตา จากอำนาจของคลื่นสีจะให้ความรู้สึกตัดกันอย่างรุนแรง มองดูบาดตา กระตุ้นเร้า ขัดแย้งและไปด้วยกันไม่ได้ และเมื่อนำสีคู่ตรงข้ามมาผสมกันผลลัพธ์จะเป็นสีกลาง ส่วนสีที่มีค่าน้ำหนักแตกต่างกันมากจะเป็นสีที่ไม่ได้ตัดกันแท้จริง เช่น ขาวกับดำ เหลืองน้ำเงิน การใช้สีตรงข้ามในพื้นที่ใกล้เคียงกันจะทำให้สีไม่มีเอกภาพ โดยทั่วไปควรจะใช้สีหนึ่งประมาณ70% อีกสี 30% การลดความรุนแรงในการใช้สีตรงข้ามทำได้โดย
          1)  ใช้สีตรงข้ามในภาพเดียวกัน มีเนื้อที่การใช้ คือ สีหนึ่ง 80 % อีกสีหนึ่ง  20 %
          2)  การนำสีตรงข้ามกันมาใช้ในปริมาณเท่ากันจะทำให้ดูบาดตาเกินไป แก้ไขด้วยการ
ใช้เส้นสีดำหรือสีที่มีน้ำหนักเข้มมาคั่นกลางระหว่างสีตรงข้ามนั้น หรือลดความสดใสของสีลงด้วยการนำสีนั้นผสมกับสีตรงข้ามเล็กน้อย จะช่วยลดความรุนแรงของสีลง  
3. นำสีตรงข้ามมาใช้สลับกันไปในลวดลายเล็กๆแพรวแพรวจะทำให้ประสานกัน 
สีกลมกลืน (Harmony) หรือ สีข้างเคียง (Analogous) คือการแสดงสีที่อยู่ติดกันในวงจรสี ทีละ 2 สี หรือ 3 สี หรือ 4 สี  ให้ความรู้สึกไปในกลุ่มโทนสีนั้น และดูไม่ฉูดฉาดเกินไป
           สีกลาง คือ สีที่เข้าได้กับสีทุกสี สีกลางในวงจรสี มี 2 สี คือ สีน้ำตาล กับ สีเทา สีน้ำตาล เกิดจากสีตรงข้ามกันในวงจรสีผสมกัน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน สีน้ำตาลมีคุณสมบัติสำคัญคือใช้ผสมกับสีอื่นแล้วจะทำให้สีนั้นๆเข้มขึ้น สีเทาเกิดจากสีทุกสี ๆ สีในวงจรสีผสมกัน ในอัตราส่วนเท่ากัน สีเทามีคุณสมบัติที่สำคัญคือใช้ผสมกับสีอื่น ๆ แล้วจะทำให้มืด หม่น ใช้ในส่วนที่เป็นเงาในระดับต่าง ๆ

 สีกับความรู้สึก

สีแดง  ให้ความรู้สึกร้อน  รุนแรง กระตุ้น ท้าทาย  เคลื่อนไหว  ตื่นเต้น เร้าใจ  มีพลัง ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง  ความรัก ความสำคัญ  อันตราย

สีส้ม  ให้ความรู้สึก ร้อน  ความอบอุ่น ความสดใส  มีชีวิตชีวา  วัยรุ่น  ความคึกคะนอง การปลดปล่อย  ความเปรี้ยว  การระวัง

สีเหลือง ให้ความรู้สึกแจ่มใส  ความสดใส  ความร่าเริง  ความเบิกบานสดชื่น ชีวิตใหม่ ความสด  ใหม่  ความสุกสว่าง  การแผ่กระจาย  อำนาจบารมี

เขียว  ให้ความรู้สึก สงบ  เงียบ  ร่มรื่น  ร่มเย็น  การพักผ่อน  การผ่อนคลาย ธรรมชาติ

ความปลอดภัย  ปกติ  ความสุข  ความสุขุม  เยือกเย็น

สีน้ำเงิน  ให้ความรู้สึกสงบ  สุขุม  สุภาพ  หนักแน่น  เคร่งขรึม  เอาการเอางาน ละเอียด  รอบคอบ  สง่างาม  มีศักดิ์ศรี  สูงศักดิ์  เป็นระเบียบถ่อมตน

สีม่วง  ให้ความรู้สึก มีเสน่ห์  น่าติดตาม  เร้นลับ  ซ่อนเร้น  มีอำนาจ  มีพลังแฝงอยู่ ความรัก  ความเศร้า  ความผิดหวัง  ความสงบ  ความสูงศักดิ์

สีฟ้า  ให้ความรู้สึก ปลอดโปร่งโล่ง  กว้าง  เบา  โปร่งใส สะอาด ปลอดภัย  ความสว่าง

ลมหายใจ ความเป็นอิสระเสรีภาพ การช่วยเหลือ แบ่งปัน

สีขาว  ให้ความรู้สึก บริสุทธิ์  สะอาด สดใส เบาบาง อ่อนโยน  เปิดเผย การเกิด  ความรัก ความหวัง  ความจริง  ความเมตตา ความศรัทธา  ความดีงาม

สีดำ  ให้ความรู้สึก มืด สกปรก ลึกลับ  ความสิ้นหวัง  จุดจบ ความตาย ความชั่ว ความลับ ทารุณ โหดร้าย ความเศร้า หนักแน่น เข้มเข็ง อดทน มีพลัง

สีชมพู ให้ความรู้สึก อบอุ่น  อ่อนโยน  นุ่มนวล  อ่อนหวาน  ความรัก  เอาใจใส่  วัยรุ่น หนุ่มสาว  ความน่ารัก ความสดใส

สีเทา  ให้ความรู้สึก เศร้า  อาลัย  ท้อแท้   ความลึกลับ  ความหดหู่  ความชรา  ความสงบ ความเงียบ  สุภาพ  สุขุม  ถ่อมตน

สีทอง  ให้ความรู้สึก ความหรูหรา  โอ่อ่า  มีราคา  สูงค่า  สิ่งสำคัญ  ความเจริญรุ่งเรือง ความสุข  ความมั่งคั่ง  ความร่ำรวย  การแผ่กระจาย

คุณลักษณะของสี
          คุณลักษณะของสี เป็นการใช้สีในลักษณะต่าง ๆ เพื่อเกิดความสวยงาม และความรู้สึกต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้สร้าง คุณลักษณะของสีที่ใช้ โดยทั่วไป มีดังนี้ คือ
          สีเอกรงค์  (Monochrome) เป็นการใช้สีเพียงสีเดียว แต่มีหลายๆน้ำหนัก ซึ่งไล่เรียงจากน้ำหนักอ่อนไปแก่  ให้ความรู้สึกสุขุม เรียบร้อย เป็นสากล ไม่ฉูดฉาดสะดุดตา ลักษณะสีจะดูเรียบง่าย ประณีต ดูได้นานไม่เบื่อง่าย เป็นอมตะ ไม่รุนแรงเพราะไม่มีสีตรงข้ามเข้าไปปะปน  ตัวอย่างเช่น ต้องการใช้สีเอกรงค์สีเขียว ให้ใช้สีเขียวสดเป็นสีเด่น สีเขียวประกอบอื่นๆให้ลดความสดใสลงหมด  เป็นการใช้สีแบบดั้งเดิม ภาพจิตรกรรมไทยแบบดั้งเดิมจะเป็นลักษณะนี้ ต่อมาเมื่อมีการใช้สีอื่นๆเข้ามาประกอบมากขึ้น ทำให้มีหลายสี ซึ่งเรียกว่า "พหุรงค์" ภาพแบบสีเอกรงค์
          วรรณะของสี (Tone) สีมีอยู่ 2 วรรณะ คือ ร้อนและเย็น สีร้อนคือสีที่ดูแล้วให้ความรู้สึกร้อน สีเย็นคือสีที่ดูแล้วรู้สึกเย็น ซึ่งอยู่ในวงจรสี สีม่วงกับสีเหลืองเป็นได้ทั้งสีร้อนและสีเย็น แล้วแต่ว่าจะอยู่กับกลุ่มสีใด การใช้สีในวรรณะเดียวกันจะทำให้เกิดรู้สึกกลมกลืนกัน การใช้สีต่างวรรณะจะทำให้เกิดความแตกต่าง ขัดแย้ง การเลือกใช้สีในวรรณะใดขึ้นอยู่กับความต้องการ และจุดมุ่งหมายของงาน

          ค่าน้ำหนักของสี  (Value of colour)  เป็นการใช้สีโดยให้มีค่าน้ำหนักในระดับต่างๆกัน และมีสีหลายๆ  ถ้ามีค่าน้ำหนักหลายๆระดับ สีก็จะกลมกลืนกันมากขึ้น  แต่ถ้ามีเพียง 1 - 2  ระดับที่ห่างกัน จะทำให้เกิดความแตกต่าง  เป็นการแสดงแสงเงา ความมืดสว่าง  ความอ่อนแก่ของสี  การทำให้สีอ่อนแก่ทำได้โดยผสมกับสีดำ สีขาว สีตรงข้ามและน้ำ การแสดงน้ำหนักอ่อนแก่ต่างกันของสี จะทำให้ภาพดูมีมิติ มีความลึก ใกล้ไกล มีชีวิตชีวา สีอ่อนให้ความรู้สึกไกล  สีแก่ให้ความรู้สึกใกล้ สีดำเป็นสีที่มีน้ำหนักมากที่สุด  สีขาวเป็นสีที่มีน้ำหนักน้อยที่สุด  เงาจะต้องเป็นสีหม่นเสมอ สีถ้าอยู่ในที่มีแสงสว่างน้อยจะเป็นสีหม่นมากน้อยตามแสงสว่าง  ส่วนเงาจะเป็นสีกลมกลืน  ถ้าอยู่ในที่มีแสงสว่างมาก แสงจัด จะเป็นสีสด  ส่วนเงาเป็นสีตรงข้าม  
          ความเข้มของสี  (Intensity) เกิดจากสีแท้ คือสีหลัก ไม่ถูกผสมด้วยสีกลางหรือสีอื่นๆ จะมีความเข้มสูงสุด แรงจัดที่สุด เมื่ออยู่ท่ามกลางสีอื่นๆจะแสดงความเด่นของสีให้เห็นอย่างชัดเจน ทำให้เกิดจุดสนใจขึ้นในผลงาน 

          สีส่วนรวม (Tonality) เป็นลักษณะที่มีสีใดสีหนึ่ง หรือกลุ่มสีชุดหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน มีอิทธิพลครอบคลุมสีอื่นๆที่อยู่ในภาพ

 

บรรณานุกรม

ปัญญา  ทรงเสรีย์  และคณะ.  สมุดปฏิบัติการ จิตกรรม 2 ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย. 
        กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช,  2542.  หน้า 43
อารี  สุทธิพันธุ์.  การระบายสีน้ำ.  กรุงเทพฯ  :  กระดาษสา,  2526.  หน้า 44 , 45
ห้องศิลปะครูอาร์ต.  2551.  การเขียนภาพสีน้ำ.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2554. 
        จาก http://artmenh.multiply.com/reviews/item/3
นิตย์สาร ปัญญาชน.  2551.  เรื่องในตอนนี้.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2554.
        จาก http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=414049
Thaigoodview.  2551.  ชนิดของสี.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2554.  จาก   
http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/bangkok/pimolnut_v/art/sec02p01.html
Charts.  2550.  การระบายสีน้ำ.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2554. จาก http://www.chaarts.com/article%20paint%20water%20colour%20paper.html

         

 

ประวัติศิลปะสีน้ำ


ประวัติศิลปะสีน้ำ

 ศิลปะสีน้ำตะวันออก
          เป็นที่ยอมรับกันว่า ชนชาติจีนรู้จักใช้สื่อสีน้ำก่อนชาติใดในโลก ทั้งนี้เพราะว่าสะดวกในการนำไปใช้เขียนตัวหนังสือตามลีลาพู่กัน (Calligraphy) หลักฐานพบได้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและพัฒนาสูงสุดในสมัยราชวงค์ซุง (Tang  Dynasty A.D. 618 – 907 , Sung Dynasty A.D. 960 – 1127) และเนื่องจากชนชาติจีนเชื่อกันว่า ธรรมชาติเป็นมารดาของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก ดังนั้นการชื่นชมและสัมผัสธรรมชาติ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เสริมสร้างการรับรู้และตอบสนองในเชิงรูปแบบศิลปะที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ศิลปินจีนจึงนิยมใช้สื่อสีน้ำเขียนบรรยายธรรมชาติ ภูเขา ต้นไม้ เมฆ ดอกไม้  สัตว์ ฯลฯ เพื่อสนองความเชื่อดังกล่าว
          เป็นความจริงที่ว่าไม่มีชนชาติใดจะอยู่ในโลกโดยลำพังได้ จำต้องติดต่อแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างกัน ตรงกับความจริงที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ประกอบด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติที่อยู่ใกล้กันทำให้ญี่ปุ่นรับศาสนา และวัฒนธรรมบางส่วนไปจากจีน รวมทั้งการใช้สื่อสีน้ำด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อสื่อสีน้ำตกถึงมือศิลปินญี่ปุ่น สีน้ำจึงกลายเป็นสีที่นิยมอย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากชนชาติญี่ปุ่นจะใช้สีน้ำ ถ่ายทอดรูปแบบจากธรรมชาติโดยตรงแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการออกแบบภาพพิมพ์สีได้อย่างดีอีกด้วย

 ศิลปะสีน้ำตะวันตก
         สำหรับในวงการศิลปะตะวันตก สื่อสีน้ำมีบทบาทและเป็นที่รู้จักกันนับตั้งแต่สมัยฟื้นฟูเป็นต้นมา โดยมีศิลปินชาวเยอรมันได้สนใจแสดงออกด้วยสื่อสีน้ำ ทั้งที่ใช้สีน้ำโดยตรงและใช้สีน้ำเสริมระหว่างการวาดเส้นสีดำกับการระบายสี ต่อมาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสีน้ำคนแรกคือ ออลเบรท ดูเรอ (Albrecht Durer 1471 – 1528) ผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยสีน้ำไว้มาก
          อัลเบรชท์ ดูเรอร์ เป็นศิลปินคนแรกที่ใช้สีน้ำเป็นสื่อในการแสดงออกเพื่อเขียนภาพสัตว์ และ
ภาพภูมิทัศน์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้พัฒนาสีน้ำให้มีลักษณะโปร่งใส และมีลักษณะไหลรุกรานเข้าหากัน โดยซึมเข้าหากัน ต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 พอล แซนด์บี ศิลปินชาวอังกฤษ (Paul Sandby 1725 – 1809) ได้ให้ความสนใจสีน้ำเป็นพิเศษ ได้นำสีน้ำเป็นสื่อในการสร้างสรรค์บรรยากาศได้อย่างดีเยี่ยมจนได้รับฉายาว่าเป็นบิดาของสีน้ำแห่งอังกฤษ ทำให้ช่วงหลังนี้ เมื่อกล่าวถึงสื่อสีน้ำ มักจะนึกถึงศิลปินอังกฤษก่อนเสมอ ทั้งยังได้รวบรวมหลักฐานไว้เป็นระบบตามลำดับ ตลอดจนอังกฤษได้ผลิตวัสดุสีน้ำ และอุปกรณ์ในการเขียนจำหน่ายเป็นที่รู้จักทั่วไปในโลก
          ทำไมอังกฤษจึงเป็นที่รู้จักกันดีว่า ใช้สื่อสีน้ำเป็นสื่อในการถ่ายทอดที่ได้ผลมากที่สุด สาเหตุประการหนึ่งก็คือ ในสมัยพระเจ้ายาร์จที่ 2 แห่งราชวงศ์ฮันโนเวอร์เรียน (Hanoverian  Dynasty) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาอังกฤษจากประเทศกสิกรรม เป็นประเทศอุตสาหกรรมคล้ายกับแผ่นดินใหญ่ ยุโรปจึงได้ส่งบุคคลหลายประเภทไปทัศนศึกษาในแผ่นดินใหญ่  ตามทัศนะว่าทรัพยากรมนุษย์มีค่ามากที่สุด
          เมื่อนักทัศนาจรอังกฤษได้รับประสบการณ์จากการท่องเที่ยวในยุโรปตามประเทศต่างๆ  เช่น ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี ต่างคนก็ต่างแสวงความรู้ ความเข้าใจ ตามความชอบของแต่ละคน แต่ความชอบหลักที่ทุกคนมีคล้ายๆกันคือศิลปะ นักทัศนาจรเหล่านั้น ประทับใจในความยิ่งใหญ่ และวัฒนธรรมของโรม ความสวยงามและความประณีตของสถาปัตยกรรมในยุคแรก ๆ  ดังนั้นจึงหาทางบันทึกรูปแบบที่ตนได้เห็นมานั้น เพื่อนำมาพัฒนาประเทศของตนและจากความต้องการนี้เอง ทำให้ศิลปินอิตาเลียน คิดทำภาพพิมพ์สถาปัตยกรรมที่สำคัญ ๆ เพื่อขายเป็นของที่ระลึกแก่นักทัศนาจรชาวอังกฤษ
สมกับความจริงที่ว่า เมื่อมีความต้องการมาก ก็ต้องสร้างสรรค์สิ่งที่ตอบสนองความต้องการนั้น ในช่วงนี้เองถึงกับเจตคติทางศิลปะในบรรดาชาวอังกฤษว่า ถ้าใครมีรูปแบบศิลปกรรมอิตาเลียนไว้ในครอบครองถือว่าเป็นผู้มีฐานะดีและมีรสนิยมดี
          ชาวอังกฤษบางคนที่มองเห็นความต้องการนี้ ประกอบกับความสามารถในการถ่ายทอดรูปแบบศิลปะที่มองเห็นอยู่บ้าง จึงได้คิดหาวิธีการสร้างสรรค์งานตามรูปแบบศิลปกรรมของต่างประเทศ ระยะแรกบางคนก็อาจไปเขียนจากสถานที่จริง บางคนก็หาทางจัดพิมพ์ขึ้นในอังกฤษเอง แล้วนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ในที่สุดก็มีศิลปินหนุ่มผู้หนึ่ง ชื่อวิลเลียม เทอร์เนอร์ (Joseph  Mallord  William Turner) ได้ร่างภาพจากทัศนียภาพของอิตาลีและฝรั่งเศสด้วยสีน้ำ นอกจากนี้ยังระบายสีน้ำเพื่อถ่ายทอดธรรมชาติของอังกฤษเองอีกด้วย ในที่สุดก็ได้รับความสำเร็จเป็นศิลปินสีน้ำยอดเยี่ยม จากสมาคมราชบัณฑิตทางศิลปะของอังกฤษ เมื่ออายุได้เพียง 24 ปีเท่านั้น เทอร์เนอร์ เป็นศิลปิน คนแรกในการระบายสีน้ำตามแนวทางศิลปะสมัยใหม่
         ปีคริสต์ศักราช 1832 นักเคมีและจิตรกร วิลเลียม วินเซอร์ และ เฮนรี นิวตัน ได้เริ่มต้นธุรกิจ สิ่งที่ทั้ง สองประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ คือ สีน้ำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ สีน้ำบรรจุกล่อง แล้วจึงตามมาด้วย สีน้ำชนิดบรรจุหลอดโลหะในปี ค.ศ.1841 และมีจิตรกรที่มีชื่อเสียงได้แก่ เทอร์เนอร์ คอนสเตเบิล (Turner Constarble) ซึ่งเป็นศิลปินในลัทธิโรแนมติก ของประเทศอังกฤษ และ แกนสเบอรอค Grangbaughroufi) จิตรกรสีน้ำที่มีชื่อเสียงในประเทศฝรั่งเศสได้แก่ ฮูเบิร์ต โรเบิร์ต (Hubert Roebrt) แซลเล (Chale) จิตรกรสีน้ำที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกาได้แก่ วินสโลว โฮมเมอร์ (Winslow Homer) จอห์น ซิงเกอร์ ซาเจนท์ (John Singer Sargent) และ แอนดริว ไวเอท (Andraw Wyeth)
         จะเห็นได้ว่า สื่อวัสดุสำหรับไว้ถ่ายทอดประเภทใดก็ตาม หากได้ลงมือฝึกฝนปฏิบัติกันอย่างจริงจังแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จเสมอ อย่างเช่น ความเป็นมาที่เกิดขึ้นในอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนจากกสิกรรมเป็นอุตสาหกรรม ผลผลิตต่างๆ  ก็เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของคนเป็นจำนวนมาก การผลิตวัสดุอุปกรณ์สำหรับสีน้ำก็พัฒนาเพิ่มมากขึ้นและเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ซื้อ บริษัทผู้ผลิตสี จึงได้เอาชื่อศิลปินสีน้ำดัง ๆ มาเป็นชื่อสี ดังเช่น วินเซอร์ และนิวตัน เป็นต้น (Winsor and Newton Artists Materials)
         สาเหตุที่ทำให้สีน้ำเป็นที่นิยมมากในอังกฤษอีกประการหนึ่งก็คือ คนอังกฤษสนใจธรรมชาติและบรรยากาศ ซึ่งความสนใจนี้ สีน้ำตอบสนองเป็นรูปแบบได้อย่างดี ดังนั้น สีน้ำจึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอังกฤษ

 ศิลปะสีน้ำประเทศไทย
         สำหรับประเทศไทยเรานั้น เข้าใจว่าเริ่มรู้จักสื่อสีน้ำ เมื่อมีการจัดการเรียนการสอนเป็นระบบขึ้นราวปี พ.. 2456 เมื่อตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้น ระยะแรกตั้งนั้น เป้าหมายสำคัญก็เพื่อใช้สีน้ำเสริมแต่งการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้มีลักษณะบรรยากาศคล้ายของจริงมากยิ่งขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้
สีน้ำ เพื่อการลงสีมิใช่ระบายสี (Coloring not  painting) แต่ขณะเดียวกันก็มีศิลปินบางท่านพยายามใช้
สีน้ำในแง่ของการระบายสี มิใช่ลงสี และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดีถ้าพิจารณาในแง่ของการเรียนการสอน เกี่ยวกับสีน้ำยังไม่มีระบบและวิธีสอนที่แน่นอนตามแนวสากล ครูศิลปะเป็นเพียง
ผู้สั่งงาน ผู้จัดหุ่น แล้วให้นักเรียนแสวงหาด้วยตนเอง  จึงส่งผลให้การเรียนการฝึกปฏิบัติสื่อวัสดุสีน้ำ
ไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก เป็นเพียงความชื่นชมที่รู้จักกันในหมู่ศิลปินที่สนใจสีน้ำเพียงสองสามคนเท่านั้นและประกอบกับเจตคติที่ปิดบังวิธีการในวิชาชีพยังคงมีอยู่ เท่าที่สืบทอดมาจากระบบการเรียนการสอนตามแบบอย่างของอดีต ( Mystery of the Craft )
         สำหรับในปัจจุบันในบ้านเรา สื่อสีน้ำได้รับการพัฒนาอีกหลังจากที่มีสถาบันศิลปะระดับปริญญาตรี เพิ่มมากขึ้นดังเช่น ตามวิทยาลัยครู และตามมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาเอกศิลปะ  เป็นต้น นอกจากนี้
การจัดแสดงภาพที่จัดขึ้นโดยทางราชการ ทางธนาคาร และกลุ่มศิลปิน ก็ให้ความสำคัญกับสื่อประเภท
สีน้ำมาก
         สรุปได้ว่า จิตรกรรมสีน้ำเริ่มมีบทบาทในการวงการศิลปะมากยิ่งขึ้นเพราะถือว่าเป็นพฤติกรรมตอบสนองการรับรู้ที่สร้างสื่อระหว่างมนุษย์ทางด้าน บรรยากาศ และความประทับใจแนวหนึ่ง สื่อประเภทนี้
ชนชาติตะวันออกได้รู้จักนำมาใช้ก่อนทางตะวันตก แต่น่าเสียดายที่ระบบการเรียนการสอนทางตะวันออกยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ประกอบกับเจตคติปิดบังเทคนิคและวิธีการในอาชีพยังคงมีค้างอยู่ จึงทำให้สีน้ำ
เป็นที่สนใจเฉพาะในวงการแคบ ๆ อย่างไรก็ดีเป็นที่คาดหวังว่า  อีกไม่นานสื่อสีน้ำคงได้รับการสนับสนุนจากสังคมส่วนใหญ่เป็นอย่างดี
 
บรรณานุกรม

มัย ตะติยะ.  พื้นฐานการวาดภาพคนเหมือน แรเงา สีน้ำ ดินสอสีระบายน้ำ. 
         กรุงเทพฯ  :  วาดศิลป์,  2552.  หน้า 52
อารี  สุทธิพันธุ์.  การระบายสีน้ำ.  กรุงเทพฯ  :  กระดาษสา,  2526.  หน้า 27 - 31
Branet,  Rex,  Watercolor  Technigues  and  Methods,  Van  Nostrand  Reinhold   
        ComPany.  New  York  P. P. 11.
Parramon  J.M., & Fresquet  G.,  Watercolors,  Improve  Your  Painting  and 
        Drawing,  Fountain  press,  13 – 35  Bridge  Street  Hemel  Hempstead, 
        Hertford  Shire,  England,  P. P. 9.                                       
Charts.  2550.  การระบายสีน้ำ.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2554.  จาก  
           http://www.chaarts.com/article%20paint%20water%20colour.html

 

 

เทคนิคสีน้ำ


เทคนิคสีน้ำ


            การสร้างสรรค์ผลงานนอกจากการระบายสีด้วยพู่กันแล้ว บางครั้งเพื่อความสะดวกรวดเร็ว หรือต้องการให้ภาพนั้นมีลักษณะพิเศษหรือดูแปลกตาออกไปจากภาพระบายสีธรรมดาจึงมีการนำเอาสื่อวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ มาสร้างภาพ หรือมีส่วนร่วมอยู่ในภาพจึงกลายเป็นเทคนิคเฉพาะในงานนั้น ๆ การสร้างภาพโดยอาศัยสื่อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

 การขูด ขีด ถู กระดาษวาดภาพ
1. ใช้กระดาษทรายถูบนกระดาษวาดภาพแล้วระบายทับด้วยสีน้ำ
2. ใช้ของมีคมขูดขีดกระดาษวาดภาพแล้วระบายทับด้วยสีน้ำ
3. ใช้เทียนไขสีขาวถูเป็นเส้นบนกระดาษวาดภาพแล้วระบายทับด้วยสีน้ำ
4. ใช้สันไม้บรรทัดขูดขีดในขณะที่สีน้ำเปียก
5. ใช้วัสดุปลายแหลมขีดเส้นก่อนและหลังระบายสีในขณะสีเปียกเพื่อให้เกิดริ้วรอย

การใช้แผ่นพลาสติกและฟองน้ำสร้างพื้นผิว
1. นำฟองน้ำชุบน้ำให้หมาดเกือบแห้ง จุ่มสีแล้วแตะให้เป็นภาพ เช่น ต้นไม้
2. เจาะแผ่นพลาสติกใสวางบนสีที่แห้งแล้ว ใช้ฟองน้ำเช็ดสีออก
3. ใช้ฟองน้ำหรือกระดาษทิชชู่เช็ดสีให้จางลงในขณะที่สีเปียกและแห้ง
4. ทาบแผ่นพลาสติกหรือแรป (Wrap) ลงบนสีที่เปียก แล้วทำให้แผ่นพลาสติกยับ ทิ้งไว้
ให้แห้ง ดึงพลาสติกออก จะปรากฏเป็นร่องรอยของสี ใช้ทำเป็นริ้วน้ำ โขดหิน พื้นดิน ท้องฟ้า

การกันสีและดีดสี
1. การกันสี เป็นการกันสีกับกระดาษ ทำให้ภาพบริเวณนั้นเป็นสีขาว นำไปใช้ก่อน ระบายสี ในบริเวณ แสงจัด ลูกคลื่นทะเล เม็ดฝน ฯลฯ วัสดุที่นำมาใช้ในการกันสีกับกระดาษ ได้แก่ ยางพารา กาวกันน้ำ (Masking fluid) เทปกาว (Nitto) เทียนไข โดยการถูเทียนไขสีขาว ทายางพารา ทากาวน้ำเมื่อสีแห้งให้ลอกกาวออก ตัดเทปกาวแล้วติดบางส่วนเมื่อสีแห้งให้ลอกออก
2. การดีดสีบางครั้งจะต้องกันสีก่อน จากนั้นดีดสีบนแปรงสีฟันหรือพู่กันให้สีลงไปผสมกันเองในกระดาษ เป็นลักษณะของจุดสีตามแนวทางของวิธี Pointillism
 
เทคนิคจากวัสดุต่างๆ
1. ระบายสีพื้นหลายสีบนกระดาษใบฝ้าย เมื่อแห้งแล้วนำไปชุบน้ำให้เปียก แล้วขยำเป็นก้อนจึงคลี่ออก ใช้มือกดให้กระดาษราบ ปล่อยให้แห้งนำมาระบายสีตามต้องการ ทดลองในกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ก่อน เมื่อจับทิศทางได้จึงลงมือปฏิบัติจริง
2. โรยเกลือหรือน้ำตาลให้กระจายลงไปในบริเวณสีเข้มหมาดๆเพื่อให้เกิดเป็นจุดด่างๆ  เกลือหรือน้ำตาลจะดูดซับสี ใช้พู่กันปัดเกลือหรือน้ำตาลออกจะเหลือลักษณะผิวที่สวยงาม  ทดลองใช้เกลือที่หยาบและละเอียดก็จะได้ลักษณะที่แตกต่างกัน
3. การใช้เส้นปากกา (Line and Wash) เป็นการเขียนเส้นร่างด้วยปากกาแล้วใช้สีระบายทับเพื่อเก็บรายละเอียด เน้นน้ำหนักแสงเงาให้เกิดความชัดเจน นิยมใช้ปากกาหมึกซึมสีดำ ทั้งละลายน้ำได้และละลายน้ำไม่ได้
4. ระบายสีบนกระจก แล้วนำวัตถุที่มีลวดลายกดบนกระจก แล้วนำวัตถุหรือกระจกที่มีลวดลายไปกดพิมพ์บนกระดาษ แล้วระบายสีน้ำต่อเติม
5. ใช้น้ำมันพืชระบายเป็นเส้นบนกระดาษวาดภาพแล้วระบายทับด้วยสีน้ำ